นอกจาก #วันเฉลิม ยังมีคนจำนวนมากถูกบังคับให้สูญหายโดยรัฐ หรือที่เรียกว่า '"อุ้มหาย" โดยรายงานของคณะทำงานของ UN ระบุว่า ไทยมีคนถูกอุ้มหายถึง 86 คน ระหว่างปี 2523-2561
Thread นี้จะเล่าเรื่องราวของพวกเขา ทั้งที่มีและไม่ปรากฏชื่อ
อ่านเพิ่มใน prachatai.com/journal/2020/0…
การอุ้มหายในไทยเริ่มอย่างชัดเจนหลังรัฐประหาร 2490 โดยเป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมือง หรือเห็นต่างจากรัฐบาล เช่น อดีต 4 รัฐมนตรีอีสาน, เตียง ศิริขันธ์, หะยีสุหลง เป็นต้น
หลังจากนั้น คลื่นลูกใหญ่ของการอุ้มหายเกิดในช่วงปราบปรามคอมมิวนิสต์ในทศวรรษ 2510 ประมาณว่ามีคนหายและตายมากถึง 3,000 คน จากปฏิบัติการถีบลงเขา เผาลงถังแดง และผู้นำชาวนา ชาวไร่ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินถูกฆ่าถึง 33 คน สูญหาย 5 คน ระหว่างปี 2517-2522
ช่วงรัฐประหาร 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ทนง โพธิ์อ่าน เป็นหนึ่งในคนที่ต่อสู้เรื่องสิทธิแรงงาน เขาหายตัวไปหลังประกาศว่าจะจัดชุมนุมคัดค้านคณะรัฐประหารที่สั่งยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ
ขณะที่การสลายการชุมนุมเพื่อต่อต้าน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ลงสมัคร ส.ส. เป็นไปอย่างรุนแรงในเดือนพฤษภาคม 2535 เหตุการณ์นี้มีผู้สูญหาย 48 ราย โดยหลายฝ่ายประเมินว่าตัวเลขจริงอาจสูงกว่านี้มาก
ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน หลังเกิดคดีเพชรซาอุฯอัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียหายตัวไปในปี 2533 โดยมี พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ตกเป็นจำเลย แต่ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องเมื่อปี 2562 ขณะที่ดาราวดีและเสรี ศรีธนะขัณฑ์ ถูกอุ้มฆ่าในปี 2537 จากการตามหาเพชรบลูไดมอนด์
อีกช่วงที่มีคนหายจำนวนมาก คือ ทศวรรษ 2540 หลังมีนโยบายสงครามยาเสพติด ซึ่งมีการอุ้มหาย การฆ่าตัดตอน และการฆาตกรรมผู้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจำนวนมากอย่างเป็นระบบ
ทนายความสมชาย นีละไพจิตร เป็นอีกหนึ่งคนมีชื่อเสียงที่หายตัวไปในปี 2547 หลังเข้าไปช่วยเหลือคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จำเลยร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมาน และเตรียมยื่นคัดค้านการใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่
นอกจากทนายสมชายแล้ว ประชาชนที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ก็หายสาบสูญเป็นระยะด้วย
กมล เหล่าโสภาพันธ์ เป็นอีกคนที่หายตัวไปจาก สภ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น หลังแจ้งความดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการทุจริตการเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ย่านสถานีรถไฟบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น
ขณะที่การสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ทั้งในปี 2552 และ 2553 ก็มีข่าวคนหายสาบสูญเป็นระยะ โดยมีนัฐพงษ์ ปองดี และชัยพร กันทัง ถูกพบเป็นศพกลางแม่น้ำเจ้าพระยาในสภาพถูกปิดปากและมัดมือไพล่หลัง เมื่อเดือน เม.ย. 2552
ปี 2556 เอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจผู้มีบทบาทวิพากษ์วิจารณ์การเมืองถูกอุ้มหายไปช่วงเดือน มิ.ย. ก่อนพบเป็นศพภายหลัง โดยมีคนขับรถรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุ ท่ามกลางความกังขาของสาธารณะ
อีกหนึ่งคดีอุ้มหายที่เป็นที่รู้จัก คือ 'บิลลี่' พอละจี รักจงเจริญ พยานสำคัญในคดีที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยฟ้องกรมอุทยานฯ จากการเผาทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้าน เขาหายตัวไปในปี 2557 ก่อนพบชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะในปี 2562 แต่ยังไม่มีใครถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีฆาตกรรม
หลังรัฐประหาร 2557 การอุ้มหายเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และขยายปฏิบัติการออกไปนอกประเทศเหยื่อส่วนใหญ่คือคนเห็นต่างทางการเมืองจาก คสช. เช่น 'จ่านิว' สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ถูกกลุ่มคนในชุดทหารอุ้มเขาขึ้นรถหายไปจาก มธ.รังสิต ก่อนทหารจะนำตัวไปส่ง สน.นิมิตรใหม่ กลางดึก
ปี 2559 เด่น คำแหล้ นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน ผู้ต่อต้านปฏิบัติการไล่รื้อชุมชนในนามการทวงคืนผืนป่าของ คสช. หายตัวไปในปี 2559 ก่อนพบกะโหลกศีรษะเมื่อปี 2560 แต่ยังไม่มีการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด
ด้านผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่หายสาบสูญ เช่น ดีเจซุนโฮ หรืออิทธิพล สุขแป้น หายตัวไปในปี 2559 โดยมีข่าวว่าเขาถูกควบคุมตัวกลับมาจากประเทศลาวไว้ในค่ายทหารแห่งหนึ่งใน จ.เพชรบูรณ์ แต่โฆษก คสช. ออกมาปฏิเสธ จึงยังไม่ทราบชะตากรรมถึงปัจจุบัน
โกตี๋ หรือวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ เป็นอีกคนที่หายตัวในประเทศลาวตั้งแต่ปี 2560 โดยมีคนเล่าว่า เห็นเขาถูกกลุ่มชายชุดดำจับตัวไป แต่ชื่อของเขายังปรากฏในการให้ข่าวของฝ่ายมั่นคงไทยเมื่อมีการจับกุมในคดีอาวุธต่างๆ ต่อมาอีกพักใหญ่
สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, ชัชชาญ บุปผาวัลย์, และไกรเดช ลือเลิศ ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในประเทศลาว ทั้งสามหายตัวไปช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2561 ก่อนชัชชาญและไกรเดชจะถูกพบเป็นศพลอยมาในแม่น้ำโขงช่วงปลายเดือน ธ.ค. ส่วนสุรชัยยังไม่มีใครทราบชะตากรรม
ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือลุงสนามหลวง, สยาม ธีระวุฒิ, และกฤษณะ ทัพไทย หายตัวไปพร้อมกันหลังพยายามหนีออกจากลาวหลังการตายของกลุ่มสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ เข้าประเทศเวียดนาม
เดือน พ.ค. 2562 มีข่าวว่าทั้งสามถูกส่งตัวกลับไทย แต่ทั้งทางการไทยและเวียดนามต่างปฏิเสธว่าไม่ข้อมูลเรื่องนี้
วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นคนล่าสุดที่ถูกอุ้มหาย มีพยานและภาพวงจรปิดเห็นเขาถูกกลุ่มชายติดอาวุธจับขึ้นรถตู้ที่พนมเปญเมื่อ 4 มิ.ย. 2563 เขาถูกสงสัยว่าเป็นแอดมินเพจที่วิพากษ์วิจารณ์ คสช. ขณะที่กัมพูชาปฏิเสธที่จะสืบสวนเรื่องนี้ เป็นที่มาของ #saveวันเฉลิม
Share this Scrolly Tale with your friends.
A Scrolly Tale is a new way to read Twitter threads with a more visually immersive experience.
Discover more beautiful Scrolly Tales like this.